นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันยังคงพบการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในทวีปเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย เนปาล พม่า กัมพูชา ซึ่งล้วนอยู่ใกล้กับประเทศไทย จึงมีความเสี่ยงสูงที่โรคไข้หวัดนกอาจจะกลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวบรรดานกอพยพจากซีกโลกตอนบนมักมาสร้างรังวางไข่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ประกอบกับช่วงนี้ที่อุณหภูมิลดต่ำลงในหลายพื้นที่ ร่วมกับมีฝนตกด้วย ซึ่งสภาพอากาศดังกล่าวจะส่งผลให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

รู้จักไข้หวัดนก

                โรคไข้หวัดนก (Bird Flu) หรือโรค Avian influenza เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Avian influenza ในวงศ์ออร์โธมิกโซวิริดี ทุกสายพันธุ์เป็นไวรัสไทป์เอ ไวรัสส่วนมากเป็นชนิดที่มีความรุนแรงต่ำ ยกเว้นซับไทป์ H5 และ H7 เฉพาะบางสายพันธุ์เท่านั้นที่ก่อโรครุนแรงและทำให้ไก่ตายจำนวนมาก เช่น ซับไทป์ H5N1 สัตว์ปีกทุกชนิดสามารถติดเชื้อไวรัสได้แต่จะมีความไวต่อการรับเชื้อแตกต่างกัน สัตว์ปีกที่มีความไวต่อเชื้อโรคซึ่งมัดแสดงอาการป่วยและมีอัตราการตายสูง ได้แก่ ไก่ ไก่งวง นกกระทา นกกระจอกเทศ และนกยูง ในขณะที่นกส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ

เชื้อไข้หวัดนกมาจากไหน

                นกป่าและสัตว์ปีกย้ายถิ่น โดยเฉพาะเป็ด ห่าน และหงส์ เป็นแหล่งนำโรคมาสู่ไก่ในฟาร์มโดยเฉพาะฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคต่ำ ไวรัสชนิดรุนแรงจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในไก่ที่ไวต่อโรคและแพร่กระจายโรคอย่างรวดเร็ว ไก่ป่วยแพร่เชื้อทางระบบหายใจและสิ่งขับถ่ายหรือปนเปื้อนมากับคนและอุปกรณ์ในฟาร์ม ไก่ปกติจะติดเชื้อโดยการกินหรือได้รับเชื้อเข้าทางระบบหายใจ

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้หวัดนก

                ไก่ที่ได้รับเชื้อไวรัสจะแสดงอาการป่วยและมีอัตราการตายแตกต่างกัน ขึ้นกับความแรงของเชื้อไวรัส ภูมิคุ้มกันของไก่ สภาพอากาศ   สภาพสิ่งแวดล้อมและการมีเชื้อโรคอื่นร่วมด้วย

                ไก่ที่ได้รับเชื้อไวรัสชนิดรุนแรงต่ำอาจไม่แสดงอาการป่วยใดๆ มีอัตราการตายต่ำ หงอยซึม มีอาการทางระบบหายใจแต่ไม่รุนแรงอาจพบไข่ลด เปลือกไข่ไม่สมบูรณ์ ในขณะที่ไก่ที่เป็นโรคแบบรุนแรงมาก อาจตายอย่างเฉียบพลันโดยไม่แสดงอาการ อัตราการตายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไก่ป่วยมีอาการหงอยซึม ไข่ลด ท้องเสีย มีอาการทางระบบหายใจ ได้แก่ ไอ จาม หายใจแบบมีเสียงกรน หัวและหน้าบวม หงอนและเหนียงสีคล้ำ หรือหน้าแข้งมีจุดเลือดออก อาการทางระบบประสาท ได้แก่ หัวและคอสั่น ยืนไม่ได้ คอพับไปข้างหลัง ซึ่งไก่แต่ละตัวอาจแสดงอาการไม่เหมือนกัน

ทำอย่างไรเมื่อพบไข้หวัดนก 

                ไข้หวัดนกถือเป็นโรคระบาดที่รุนแรงและสามารถติดต่อถึงคนได้ ไม่มียาที่อนุญาตให้ใช้ในการรักษา ในประเทศไทยไม่อนุญาตให้ใช้วัคซีนในการป้องกันโรคและจำเป็นต้องทำลายสัตว์ป่วยทิ้งเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด

                 หากพบการระบาดของโรคนี้จำเป็นต้องมีมาตรการในการกำจัดโรคอย่างเข้มงวด ซึ่งได้แก่ การวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว การทำลายไก่ที่เป็นโรค บริเวณที่เกิดโรคต้องถือเป็นพื้นที่กักกัน ห้ามขนย้ายไก่และอุปกรณ์การเลี้ยงออกจากพื้นที่ มีการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่โดยรอบจุดที่มีการระบาดของโรค มีการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์การเลี้ยง มีการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเชื้อไวรัส หากตรวจพบเชื้อไวรัสหรือพบไก่ป่วยในพื้นที่เฝ้าระวัง ให้ทำลายไก่ทันที

 เลี้ยงไก่อย่างไรในหน้าหนาว

            1. ช่วงอากาศหนาวจะมีอุณหภูมิและความชื้นต่ำ ควรตรวจสอบระบบระบายอากาศและควบคุมอุณหภูมิให้มีการทำงานเป็นปกติอยู่เสมอ

            2. เน้นเรื่องการกกเป็นพิเศษ

            3. ไก่ที่จะเอาเข้ามาใหม่ต้องปลอดโรค รู้แหล่งที่มา

            4. เข้มงวดในด้านการจัดการ ระบบสุขาภิบาลของฟาร์ม รวมถึงความสะอาดของน้ำ อาหาร ต้องปราศจากการปนเปื้อน มีการกำจัดสัตว์พาหะนำโรคอย่างเหมาะสม

            5. มีโปรแกรมการทำวัคซีนและถ่ายพยาธิตามกำหนด

            6. หากพบไก่ป่วยตายผิดปกติ ควรรีบแจ้งสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม เพื่อติดตามหาสาเหตุและสามารถควบคุมดูแลได้ทันเหตุการณ์

                การอพยพของนกป่ายังสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปทั่วทุกมุมโลก การเตรียมการและการเฝ้าระวัง การให้ความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ในภูมิภาคทั่วประเทศ มีความสำคัญอย่างยิ่ง